ตรวจวัดสายตาโดยนักทัศนมาตร
นักทัศนมาตรคือใคร
นักทัศนมาตร (Optometrist) หรือ หมอสายตา คือผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจวัดสายตาและสุขภาพตาเบื้องต้น หรือการฝึกกล้ามเนื้อตา โดยใช้แว่นตาเป็นอุปกรณ์หลักในการรักษา แตกต่างจากจักษุแพทย์ (Ophthalmologist) ซึ่งจะเน้นเรื่องการตรวจโรคและการรักษาโรคของดวงตา โดยรักษาด้วยวิธีการให้ยา ใช้แสงเลเซอร์ หรือการผ่าตัด
ร้านแว่นปุถุชนจะมีนักทัศนมาตรเป็นผู้ตรวจวัดสายตาของท่านเพื่อให้ได้ค่าสายตาที่ถูกต้องแม่นยำ การตรวจวัดสายตาของเราจะมีความละเอียด โดยในขั้นแรกจะมีการตรวจวัดด้วยเครื่องตรวจวัดคอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นนักทัศนมาตรจะให้ท่านตรวจด้วยเครื่องวัดสายตาที่มีการเปลี่ยนเลนส์ เพื่อหาค่าสายตาของเลนส์ ค่าความเอียงของสายตา ถัดไปนักทัศนมาตรก็จะตรวจดูระยะห่างของดวงตา จุดโฟกัสของดวงตา เพื่อให้ค่าสายตาและจุดตกกระทบของภาพที่มายังเลนส์ถูกต้องที่สุด ทั้งนี้เพื่อความสบายตาของท่านและถนอมดวงตาของท่านในระยะยาว
การตรวจวัดสายตาโดยนักทัศนมาตรที่ร้านแว่นปุถุชนจะใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที ขึ้นอยู่กับค่าสายตาของแต่ละบุคคล อาการทางสายตา สายตาล้าจากคอมพิวเตอร์ หรือสำหรับเด็ก บุตรหลานของท่านในวัยเรียนที่มีปัญหาสายตาสั้นส่วนมากจะใช้เวลาในการตรวจวัดสายตาน้อยกว่าวัยทำงานหรือผู้สูงวัยที่มีปัญหาสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียงในคราวเดียวกัน ซึ่งผู้อยู่ในกลุ่มนี้สามารถตรวจวัดสายตาจากนักทัศนมาตรเพื่อใช้เลนส์โปรเกรสซีฟ (Progressive Lens) เพื่อแก้ปัญหาผู้ที่มีสายตาสั้นและสายตายาวในคราวเดียวกัน
5 ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับ "สายตา" และการ "ใส่แว่น"
1. สายตาเอียง เป็นเพราะนอนอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์มากเกินไป
สายตาเอียงเป็นความผิดปกติของสายตาที่เกิดจากความโค้งของกระจกตาในแต่ละแนวไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติทางกายภาพ แต่การนอนอ่านหนังสือหรือการดูโทรทัศน์ในที่มืดบ่อย ๆ ถึงแม้อาจก่อให้เกิดความเมื่อยล้าของดวงตาเนื่องจากมีการเพ่งสายตาในระยะเวลานาน แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สายตาเอียง
2. สายตาเอียงไม่ได้เป็นกันง่าย ๆ
ถือเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะจากสถิติพบว่ากว่า 50% ของผู้มีปัญหาสายตา มักมีค่าสายตาเอียงรวมอยู่ด้วย สายตาเอียงเป็นอาการทางสายตาชนิดหนึ่งที่แตกต่างจากสายตาสั้นหรือสายตายาว ผู้ที่มีสายตาสั้นหรือสายตายาวจะมองเห็นตัวเลขตัวอักษรชัดเท่า ๆ กันทุกตัว หรือมัวเท่า ๆ กันทุกตัว แต่สำหรับผู้ที่มีสายตาเอียง จะมองเห็นตัวเลขหรือตัวอักษรนั้นชัดบางตัวหรือตัวไม่ชัดบางตัว
3. สายตายาวตามวัย สามารถป้องกันได้
การเกิดปัญหาสายตายาวตามวัยเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงของดวงตาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เนื่องจากเลนส์แก้วตามีความยืดหยุ่นน้อยลง ดังนั้นสายตายาวตามวัยจึงไม่ใช่โรค ในปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันได้ โดยจะเกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าจะมีค่าสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาปกติมาก่อนอายุ 40 ปีก็ตาม แม้แต่คนที่ทานอาหารบำรุงสายตาเป็นประจำ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้ คนในวัย 40 ปีขึ้นไปส่วนมากจะเริ่มมีปัญหาในการเห็นทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งต้องอาศัยเลนส์สายตาแบบเลนส์โปรเกรสซีฟช่วยในการมองเห็น
4. สายตาสั้นแต่ไม่ใส่แว่น จะทำให้สายตาจะสั้นขึ้นอีก
การใส่แว่นหรือไม่ใส่แว่น ไม่ได้มีผลทำให้สายตาสั้นมากขึ้น เพราะปกติแล้วสายตาจะมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งอายุราวๆ 25 ปี สายตาจึงจะเริ่มคงที่หรือเพิ่มขึ้นไม่มาก ส่วนการที่ใส่แว่นสายตาสั้นที่เกินกว่าค่าสายตาจริงเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้สายตาสั้นมากขึ้นได้ โดยมักเกิดในเด็กและเกิดเพียงชั่วคราวเท่านั้น
5. ใส่ ๆ ถอด ๆ แว่น จะทำให้สายตาสั้นขึ้น
ภาวะสายตาสั้น ยาว เอียงนั้น ขึ้นกับความสมดุลของลูกตาระหว่างความโค้งกระจกตา เลนส์แก้วตา และความยาวของลูกตา ดังนั้นการใส่แว่นตาก็เพื่อให้แสงที่ตกไม่ตรงจุดรับภาพเลื่อนไปตกที่จุดรับภาพ และเพื่อให้ภาพคมชัดขึ้นนั่นเอง ดังนั้นการใส่ ๆ ถอด ๆ แว่นจึงไม่ได้ทำให้สายตาสั้นขึ้น