สายตาสั้น
สายตาสั้น คือ ปัญหาเกี่ยวกับสายตาชนิดหนึ่ง เกิดจากภาวะความผิดปกติของสายตาที่ไม่สามารถรับแสงหักเหจากวัตถุที่มาโฟกัสตรงจอตาได้อย่างพอดี ส่งผลให้ผู้ที่สายตาสั้นจะมองเห็นสิ่งที่อยู่ระยะไกลไม่ชัด หรือมองเห็นมัวลง แต่จะมองเห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ชัดเจน
อาการสายตาสั้น
ผู้ที่ประสบภาวะสายตาสั้นจะมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น และเกิดอาการอื่นร่วมด้วย ดังนี้
- มองเห็นสิ่งที่อยู่ระยะไกลมัวลง หรือมองเห็นไม่ชัดเจน
- ต้องจ้องหรือเพ่งมองใกล้ ๆ หรี่ตา รวมทั้งปิดตาข้างหนึ่งเพื่อมองให้ชัดขึ้น
- มองเห็นได้ไม่ชัดขณะขับขี่ โดยเฉพาะเมื่อขับขี่ตอนกลางคืน ซึ่งเรียกว่าสายตาสั้นตอนกลางคืน (Night Myopia)
ส่วนเด็กที่ประสบภาวะสายตาสั้น สามารถเข้ารับการวัดสายตาได้ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนจนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่น เพื่อวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว โดยเด็กที่สายตาสั้น จะเกิดอาการดังนี้
-
มักหรี่ตาเมื่อมองสิ่งที่อยู่ไกล
-
จำเป็นต้องนั่งดูโทรทัศน์หรือหน้าจอภาพยนตร์แบบใกล้ ๆ หรือต้องนั่งหน้าชั้นเรียน เนื่องจากมองกระดานไม่ชัด
-
กะพริบตาบ่อยเกินไป
-
มักบ่นปวดศีรษะหรือตาล้า
-
มักขยี้ตาบ่อย ๆ
การรักษาแบบไม่ถาวร
-
แว่นสายตา แว่นสายตาทำจากเลนส์เว้าซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายแสง ช่วยแก้ปัญหาสายตาสั้นได้ แต่อาจทำให้ไม่คล่องตัว
-
เลนส์สัมผัส ทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น แต่ต้องดูแลทำความสะอาดให้ดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่กระจกตา นอกจากนี้การใส่เลนส์สัมผัสนานๆทำให้เซลล์ผิวเสื่อมได้ในระยะยาว ตาแห้ง ภูมิแพ้ที่เยื่อบุตา จนทำให้การใส่เลนส์มีปัญหาและรับเลนส์ไม่ได้ในที่สุด
การรักษาแบบถาวร
ทำได้โดยการผ่าตัดแก้ไขสายตา ด้วยการใช้เลเซอร์
ข้อควรพิจารณาในการตัดแว่นสายตาสำหรับนักเรียน
อายุ: เด็กเล็กอาจจะต้องการกรอบแว่นที่แข็งแรงทนทานต่อความเสียหาย ในขณะที่เด็กโตหรือวัยรุ่น อาจจะให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์มากกว่า
-
ไลฟ์สไตล์: เด็กหรือวัยรุ่นของคุณแอ็คทีฟแค่ไหน ชอบเล่นกีฬา หรืออยู่ในบ้าน ไลฟ์สไตล์เหล่านี้มีผลต่อชนิดของเลนส์ กรอบแว่น และการใช้เลนส์เคลือบสารพิเศษแบบต่าง ๆ
-
ภาวะของสายตา: การไปตรวจตาเป็นประจำตั้งแต่ยังเด็กเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะปัญหาความผิดปกติบางอย่างทางสายตาสามารถแก้ไขรักษาให้หายได้อย่างถาวร ความเข้าใจในภาวะปัญหาต่างๆ และรับคำแนะนำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้คุณสามารถเลือกแว่นที่เหมาะสมกับปัญหาได้